1. ความเป็นมาของโครงการฯพัฒนาถ่านอัดแท่งจากลิกไนต์ แม่เมาะ จ.ลำปาง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับคัดเลือกความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในโครงการความร่วมือภายใต้ชื่อ Green Aid Plan (GAP) ของกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (MITI) ผ่านกรมโรงงานอุตสาหกรรม (DIW) กระทรวงอุตสาหกรรม ในโครงการสาธิตการหุงต้มจากลิกไนต์ของโครงการเทคโนโลยีถ่านสะอาด (Clean Coal Technology) โดยการใช้ถ่านลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะมาผสมกับสารปรับแต่งคุณภาพ เพื่อให้เหมาะสมสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนแทนถ่านไม้ และก๊าซหุงต้ม และยังสามารถนำไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวนี้ จะเป็นทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิง ลดการตัดไม้ทำลายป่าและประหยัดเงินตราในการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โครงการฯ นี้ได้เริ่ม ดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 ถึง เดือนมีนาคม 2543 โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 บ.ห้วยเป็ด ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ. ลำปาง โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นดังนี้
1. เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ผลิตถ่านอัดแท่งในโรงงานสาธิตมูลค่าประมาณ 169 ล้านบาท
2. วิศวกรที่ปรึกษาเพื่อปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยในการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ รวมทั้งอบรมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ด้านการผลิต
3. การจัดอบรม/ ดูงานให้กับเจ้าหน้าที่ กฟผ. เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการผลิต และการบำรุงรักษาเครื่องจักร
ในปี 2542 ได้จัดตั้งโรงงานผลิตถ่านอัดแท่ง ณ หมู่ 1 บ้านห้วยเป็ด ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ขนาดกำลังผลิต 4,200 ก้อนต่อชั่วโมง ปัจจุบันเป็นช่วงวิจัยพัฒนาปรับปรุงถ่านอัดแท่งชนิดต่างๆ ให้มีคุณภาพและต้นทุนที่เหมาะสมตรงตามความต้องการ ของผู้ใช้ในประเทศและควบคุมไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมเผยแพร่ถ่านอัดแท่ง ให้เป็นที่รู้จักของคนไทย
ขณะเดียวกันเพื่อให้การใช้ถ่านอัดแท่งได้ให้พลังงานความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียในส่วนที่ไม่จำเป็น จึงได้พัฒนาเตาพลังงาน ซึ่งใช้ร่วมกับถ่านอัดแท่ง โดยพัฒนาจากเตาต้นแบบที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นและปรับใช้วัตถุดิบในประเทศ ปรับรูปร่าง ขนาด ให้เหมาะสม กับการใช้ตรงตามความต้องการของตลาด
เพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงถ่านอัดแท่งและเตาพลังงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และให้ทันกับแนวโน้มเชื้อเพลิง ในประเทศที่จะมีราคาสูงขึ้น จึงกำหนดให้มีการเชิญชวนผู้สนใจหรือหน่วยงาน โรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจเข้าร่วมโครงการทดลองใช้ ถ่านอัดแท่ง ในงานประเภทต่างๆ ทั้งนี้ในส่วนทางครัวเรือนได้มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากทั้งในจังหวัดลำปาง ภาคเหนือและภาคอื่น ๆ
2. วัตถุประสงค์ของโครงการฯ
1. วัตถุประสงค์ด้านภาพลักษณ์ขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม กฟผ.ได้สนับสนุนนโยบายองรัฐบาลในการักษาสภาวะแวดล้อม ลดการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนในการใช้เชื้อเพลิงเพื่อประกอบอาหาร หรือใช้ในการผลิตสินค้าในโรงงาน อุตสาหกรรม
2. วัตถุประสงค์ในการประกอบการเชิงพาณิชย์ เป็นการสาธิตและเผยแพร่ถ่านอัดแท่งให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการอุตสาหกรกรมในครัวเรือนและอุตสาหกรรมขนาดย่อม ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นและประสบปัญหาการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายในการตัดไม้ ทางโครงการฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม อีกทั้งพัฒนาระบบโรงงานและผลิตภัณฑ์ ให้เข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรมรับรอง
3. เป้าหมายของโครงการฯ
เป้าหมายของโครงการคือ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร และทำการผลิตถ่านอัดแท่งซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ สามารถใช้ทดแทนเชื้อเพลิง ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ โครงการฯ จึงวางเป้าหมายในเชิงธุรกิจไว้ดังนี้
1. เผยแพร่ผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคได้เห็นคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่ง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 5 ปี (2544-2548)
2. ในระยะการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ 5 ปี (2544-2548) มีเป้าหมายในการเผยแพร่การใช้ถ่านอัดแท่งทั่วทุกภาคในประเทศ ในระยะ 5 ปี ดังกล่าว หากดำเนินการไปได้ตามเป้าหมายด้วยดีอาจจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของธุรกิจ
3. ผลิตถ่านอัดแท่งรองรับความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ
4. วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากลิกไนต์ ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
โครงการพัฒนาถ่านอัดแท่งจากลิกไนต์แม่เมาะ จ. ลำปาง
Email: coalbriquette@fuel.egat.or.th
|