เรื่อง การศึกษาเชื้อเพลิงอัดแท่งจากถ่านเปลือกทุเรียนผสมกับกากตะกอนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ
นามผู้วิจัย นางสาวทิพาวรรณ รักษ์วงศ์
นางสาวอัญชริการ์ ไชยศรีหา
คณะกรรมการที่ปรึกษาปัญหาพิเศษ
อาจารย์ธรพร บุศย์น้ำเพชร ที่ปรึกษาปัญหาพิเศษ
อาจารย์ ธีรพจน์ พุทธกีฎกวีวงศ์ ที่ปรึกษาร่วมปัญหาพิเศษ
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการนำวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ในรูปของเชื้อเพลิงอัดแท่ง โดยการนำเปลือกทุเรียนมาผสมกับกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ จำนวน 6 อัตราส่วนผสม คือ 4:5 5:1 6:1 7:1 8:1 9:1 โดยน้ำหนัก โดยเผาเปลือกทุเรียนให้เป็นถ่าน แล้วอัดเป็นแท่งโดยใช้กากตะกอนเป็นตัวประสานและศึกษาคุณสมบัติทางกล คุณสมบัติด้านเชื้อเพลิงตามมาตรฐาน ASTM รวมทั้งศึกษาประสิทธิภาพการใช้งานของความร้อน และเปรียบกับถ่านไม้ยูคาลิปตัส
ผลการวิจัยพบว่า อัตราส่วนผสมระหว่างเปลือกทุเรียนกับกากตะกอนตั้งแต่ 4:1 ถึง 7:1 สามารถอัดขึ้นรูปเป็นแท่งได้ โดยส่วนผสมที่มีเปลือกทุเรียนเพิ่มขึ้น จะอัดขึ้นรูปได้ยากขึ้น ความหนาแน่น และดัชนีการแตกร่วนจะลดลง จากการอัดขึ้นรูปเป็นแท่ง พบว่า อัตราส่วนผสม 6:1 มีคุณสมบัติดีที่สุด เมื่อนำไปทดสอบคุณสมบัติด้านเชื้อเพลิงตามมาตรฐาน ASTM รวม 3 ด้าน คือ ความชื้น ปริมาณเถ้า และค่าความร้อนมีค่า 4.46% 17.50% และ 21,758.79 กิโลจูล/ กิโลกรัม ตามลำดับ และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับถ่านไม้ยูคาลิปตัส พบว่า มีค่าใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ในการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของความร้อน พบว่าถ่านเปลือกทุเรียนผสมกับกากตะกอนมีประสิทธิภาพในการใช้งานของความร้อนใกล้เคียงกับถ่านไม้ยูคาลิปตัส คือ 30.18% และ 29.03% ตามลำดับ โดยถ่านเปลือกทุเรียนผสมกับกากตะกอนมีประสิทธิภาพในการใช้งานของความร้อนสูงกว่าถ่านไม้ยูคาลิปตัส 1.15%
|