โดย... นายประลอง ดำรงค์ไทย
การทดลองนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการผลิตและคุณภาพถ่านตามวิธีการเผา แบบท้องถิ่นในสวนป่าลาดกระทิง บริษัทไม้อัดไทย จำกัด อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา กับวิธี ของกรมป่าไม้ เพื่อต้องการทราบถึงความแตกต่าง ทั้งนี้ เพื่อจักได้นำผลการศึกษาและทดลอง นำไปแก้ไขและปรับปรุงวิธีการผลิตถ่านแบบท้องถิ่นของสวนป่าฯ ให้เกิดประสิทธิภาพได้ผลผลิตสูงกว่าที่ ควรจะเป็น โดยได้ทดลองการเผาถ่าน จากเตาเผาถ่านขนาดความจุ 8 ลบ.ม. จำนวน 3 เตา แต่ละเตาจะทำการเผาถ่านเปรียบเทียบทั้ง 2 วิธีการ โดยใช้ไม้กระถินยักษ์สำหรับเตาที่ 1 และ 3 และใช้ไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส กับเตาที่ 2 ซึ่งไม้ทั้งหมดมีความชื้นตั้งแต่ 28 - 34 % หรือเฉลี่ย 31.88% ผลการทดลองพบว่าปริมาณถ่านที่เผาได้เฉลี่ยต่อเตาตามวิธีการเผาแบบกรมป่าไม้ ได้ 920.77 กก. หรือ 32.20% เทียบกับวิธีการผลิตแบบท้องถิ่นของสวนป่าฯ ได้ 894.66 กก. หรือ 28.96% ซึ่งผลผลิตที่ต่างกันโดยวิธีการเผาแบบท้องถิ่นจะน้อยกว่านั้น เป็นผลจากการใช้ปริมาณฟืนหน้าเตาที่มีมากโดยเฉลี่ยประมาณ 185.4 กก. ต่อการเผาแต่ละครั้ง เมื่อเทียบกับการเผาแบบกรมป่าไม้ที่ใช้ฟืนหน้าเตาเพียง 112.7 กก. ทั้งนี้แม้ว่าปริมาณส้นถ่านของการเผาถ่านแบบกรมป่าไม้ จะสูงโดยเฉลี่ย 38.2 กก. ในขณะที่ส้นถ่านจากวิธีแบบท้องถิ่นมีเพียง 3.07 กก. ก็ตาม ส่วนระยะเวลาที่ใช้เผาตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งปิดเตาโดยเฉลี่ยการเผาแบบวิธีกรมป่าไม้ จะใช้เวลา 4.18 วันเทียบกับวิธีการท้องถิ่นของสวนป่าฯ ใช้เวลา 2.3 วัน และเวลาทั้งหมดของขบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มเผาจนถึงเวลาเปิดเตานำถ่านออก จะใช้เวลา 8.83 และ 7.7 วัน สำหรับการเผาแบบวิธีกรมป่าไม้ และแบบสวนป่าฯ ตามลำดับ การสูญเสียมวลไม้เมื่อกลายเป็นถ่านเฉลี่ยทั้ง 3 เตา ประมาณ 68.38% สำหรับวิธีการเผาแบบกรมป่าไม้ และ 71.07% สำหรับแบบท้องถิ่นของสวนป่า การทดลองการหดตัวของไม้เมื่อกลายเป็นถ่าน เฉพาะทางหน้าตัดมีค่าการหดตัวใกล้เคียงกัน คือ 19.08 และ 19.78% สำหรับวิธีแบบกรมป่าไม้และแบบท้องถิ่นฯ ตามลำดับ อนึ่งในส่วนของประสิทธิภาพในการหุงต้มของถ่านซึ่งจะแสดงข้อมูลในลักษณะของงานที่ทำได้, อัตราการเผาไหม้เฉลี่ยและการปะทุขณะติดไฟ พบว่าผลไม่แตกต่างกันมากทั้ง 2 วิธี ในแต่ละการทดลอง ทั้ง 3 เตา |