ชื่อเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบหาค่าความร้อนจากถ่านชีวภาพ
นามผู้วิจัย นางสาวเกศกนก จันทรมาศ
นายวิทวัส เหรียญพิมาย
คณะกรรมการที่ปรึกษาปัญหาพิเศษ
อาจารย์นฤพล ทีโพนทัน ที่ปรึกษาปัญหาพิเศษ
อาจารย์อารีรัตน์ รักษาศิลป์ ที่ปรึกษาร่วมปัญหาพิเศษ
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาหาอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อนำมาทำถ่านชีวภาพ วัสดุที่นำมาใช้คือ ชานอ้อย ลำต้นมันสำปะหลัง และกาบมะพร้าว โดยใช้มูลสัตว์เป็นตัวประสาน ในการทดลองนี้ได้ทำการทดลองประกอบด้วยชุดการทดลองดังนี้ ชานอ้อยเพียงอย่างเดียว, ชานอ้อยผสมกับกาบมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:1:1 ถึง 4:1:1 ชานอ้อยผสมลำต้นมันสำปะหลัง ในอัตราส่วน 1:1:1 ถึง 4:1:1 และนำวัสดุทั้งสามชนิดมาผสมกัน แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง วัดค่าความร้อนด้วยเครื่อง Bomb Calorimeter พบว่าค่าความร้อนเฉลี่ยที่วัดได้คือ 3113.61, 3168.68, 3353.95, 3401.26, 3195.88, 3157.06, 3191.84, 2955.10, 3901.46 และ 3239.24 Cal/g ตามลำดับ อัตราส่วนที่ให้ค่าความร้อนเฉลี่ยมากที่สุดคือ ชานอ้อยผสมลำต้นมันสำปะหลังในอัตราส่วน 4:1:1 และอัตราส่วนที่ให้ค่าความร้อนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ชานอ้อยผสมลำต้นมันสำปะหลังในอัตราส่วน 3:1:1
การหาอัตราส่วนที่เหมาะสมในการผลิต เมื่อพิจารณาผลการทดลองจากค่าความร้อนการต้มน้ำ ปริมาณควัน และลักษณะของถ่าน พบว่าอัตราส่วนที่เหมาะสมในการผลิตคือ อัตราส่วน 2:1:1 ทั้งชานอ้อยผสมลำต้นมันสำปะหลัง และชานอ้อยผสมกาบมะพร้าว
คำสำคัญ : ถ่านชีวภาพ/ ค่าความร้อน/ ขี้เถ้า |