สำนักงานคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (สพช.) ได้ใช้เงินจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” สนับสนุนผ่านหน่วยงานต่างๆ ในการศึกษาวิจัยเพื่อนำวัสดุเหลือใช้ จากการเกษตร หรืออุตสาหกรรมการเกษตรต่างๆ เหล่านั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นพลังงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น
- สนับสนุน กลุ่มพัฒนาพลังงานจากไม้ กรมป่าไม้ ในการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร มาอัดแท่งให้เป็นฟืนและถ่าน หรือที่เรียกว่า “แท่งเชื้อเพลิงเขียว” เพื่อให้ประชาชนในชนบท มีเชื้อเพลิงใช้ในราคาถูก และสนับสนุนการปรับปรุงเตาหุงต้ม ให้สามารถใช้กับวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตรอีกด้วย
- สนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการเผยแพร่การใช้เตาถ่านหุงต้มประสิทธิภาพสูง
- สนับสนุนหน่วยบริการก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งเสริมให้มีการนำของเสีย จากมูลสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นพลังงาน ทดแทนก๊าซหุงต้มและพลังงานไฟฟ้า
นอกจากนั้น สพช. ยังได้ทำการศึกษา แนวทางสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้ จากการเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร มาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลิตไฟฟ้าทดแทนพลังงานเชิงพาณิชย์ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ สามารถใช้งานได้อย่างพอเพียง ภายในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งนั้น ซึ่งอาจมีปริมาณเหลือใช้มากพอ ที่จะจำหน่าย ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กอีกด้วย โดย สพช. ได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ไปแล้วดังนี้
(1) การกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน
ด้วยการสนับสนุนของ Danish Cooperation for Environment and Development (DANCED) ประเทศเดนมาร์ก ศึกษาหาข้อมูลให้กับ สพช. ในรายละเอียดของกลไกด้านราคาเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producers: SPP) และเพื่อประเมินระดับมากน้อย ของการให้เงินสนับสนุนด้านราคา โดยพิจารณาจากประโยชน์ ที่ได้รับจากการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล
การศึกษาดังกล่าวเสนอ ให้มีการให้เงินชดเชยการผลิต ซึ่งจะทำให้โรงสีข้าว และโรงงานน้ำตาลที่มีการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว มีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีไฟฟ้าเหลือขายให้ระบบ
(2) การส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน
ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีประกาศลงวันที่ 3 กันยายน 2539 เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ประเภทพลังงานนอกรูปแบบ เชื้อเพลิงกาก เศษวัสดุเหลือใช้ ขยะมูลฝอยหรือไม้ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2545 มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producers: SPP) ขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้า 50 ราย คิดเป็นพลังไฟฟ้าที่เสนอขาย 1,962 MW จากจำนวนดังกล่าวเป็นการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน และพลังงานหมุนเวียน ผสมกับพลังงานเชิงพาณิชย์ เพียง 26 ราย คิดเป็นพลังไฟฟ้าที่เสนอขาย 215-260 MW ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น SPP ที่มีความคุ้มค่าทางด้านการเงินสูง แต่ก็ยังมี SPP หลายรายที่มีความคุ้มค่าทางด้านการเงินต่ำ แต่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังงานหมุนเวียน จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้มีการลงทุนผลิต และขายไฟฟ้า ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้ให้ สพช. ใช้เงินจากกองทุนฯ ในวงเงินรวม 2,060 ล้านบาท สนับสนุนโครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อให้ กฟผ. สามารถรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้อีกประมาณ 300 เมกะวัตต์
สพช. ได้ออกประกาศเชิญชวน ให้ผู้สนใจลงทุน และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ หรือใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิง ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับเงินสนับสนุนดังกล่าว โดยกองทุนฯ จะจ่ายเงินสนับสนุน ให้กับผู้ที่มีข้อเสนอ ที่เหมาะสม และเสนอขอรับเงินสนับสนุน ค่าพลังงานไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นจากอัตรารับซื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตรายเล็กไม่เกิน 0.36 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วยวิธีคัดเลือก โดยกำหนดยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 15 ตุลาคม 2544
เมื่อครบกำหนดวันยื่นซองข้อเสนอ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2544 ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นข้อเสนอไว้กับ สพช. รวมทั้งสิ้น 43 ราย คิดเป็นพลังไฟฟ้าที่เสนอขายทั้งสิ้น 775 MW คิดเป็นจำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนทั้งสิ้นประมาณ 6,400 ล้านบาท
การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอทั้ง 43 โครงการ ได้เป็นไปตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ได้กำหนดไว้ และเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 โดยคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ และ คณะทำงานโครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ได้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง โดยมีบริษัท AEA Technology plc เป็นที่ปรึกษา และได้รายงานสรุปผลการคัดเลือกข้อเสนอทั้ง 43 โครงการ เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 สรุปผลได้ดังนี้
- มีข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคและการเงิน รวมทั้งสิ้น 37 โครงการ
- กลุ่มที่ 1 ข้อเสนอที่จะได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ในวงเงิน 2,060 ล้านบาท มีจำนวนทั้งสิ้น 17 ราย
- คิดเป็นพลังไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบทั้งสิ้น 313 MW
- คิดเป็นเงินที่กองทุนฯ สนับสนุนทั้งสิ้นในวงเงิน 1,955,805,527.60 บาท
- มีวงเงินกองทุนฯ ที่คงเหลืออยู่เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 104,194,472.40 บาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้กับโครงการฯ ลำดับถัดไปได้
- กองทุนฯ มีเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 17 ราย ต้องมีการรับฟังความ คิดเห็นจากชุมชนด้วย ตามขั้นตอนดังนี้
- ขั้นตอนที่ 1 ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 17 ราย นำเสนอแผนการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนให้คณะทำงานฯ พิจารณา และจัดให้คณะทำงานฯ ได้เข้าไปในพื้นที่ตั้งโครงการฯ ภายในระยะเวลา 2 เดือนนับจากวันที่ สพช. ประกาศผลการคัดเลือก โดยกำหนดขอบเขตของพื้นที่ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเป็นพื้นที่ อบต. ที่ตั้งโรงไฟฟ้า และ อบต. โดยรอบพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า แต่ทั้งนี้ไม่เกินระยะ 10 กิโลเมตร จากที่ตั้งโรงไฟฟ้า
- ขั้นตอนที่ 2 คณะทำงานฯ ลงพื้นที่โครงการต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่นั้น และรายงานผลเป็นข้อสังเกตและความคิดเห็นของคณะทำงานฯ ที่มีต่อโครงการฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ของคณะกรรมการกองทุนฯ และคณะอนุกรรมการฯ ในการอนุมัติให้การสนับสนุนโครงการฯ ต่อไป
- ขั้นตอนที่ 3 คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติให้การสนับสนุนโครงการฯ
|
- กลุ่มที่ 2 ข้อเสนอในกลุ่มนี้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากวงเงิน 2,060 ล้านบาท ได้หมดลงก่อน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 20 ราย
- คิดเป็นพลังไฟฟ้าที่เสนอขายเข้าระบบ 224.20 MW
- คิดเป็นวงเงินที่ต้องการสนับสนุนทั้งสิ้น 2,117,393,221.60 บาท
- กองทุนฯ ได้ให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติม 1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นข้อเสนอในกลุ่มนี้ ได้ยื่นข้อเสนอทางการเงินให้คณะทำงานฯ พิจารณาคัดเลือกใหม่ โดยเสนออัตราได้สูงสุดไม่เกิน 0.225 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (ซึ่งเป็นอัตราเงินสนับสนุนสูงสุดของโครงการในกลุ่มที่ 1)
|
- มีข้อเสนอที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา รวมทั้งสิ้น 6 โครงการ ประกอบด้วย
- ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ด้านเทคนิค 1 โครงการ
- ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ด้านการเงิน 1 โครงการ
- ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ทั้งด้านเทคนิคและการเงิน 2 โครงการ
- ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ 2 โครงการ
|
การจัดลำดับข้อเสนอโครงการตามค่า ALACOD จากต่ำสุดไปหาสูงสุด
(3) การจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลเพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยเชื้อเพลิงจากชีวมวล
สพช. ได้รับการสนับสนุนจาก Global Environment Facility (GEF) โดยผ่าน United Nations Development Programme (UNDP) ในวงเงิน 6.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อร่วมดำเนินการแก้ไขและลดปัญหาอุปสรรค ที่เกิดขึ้นในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โดยจะพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจกับธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ในเรื่องความสำคัญของการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล พร้อมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์บริการที่ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและให้บริการข้อมูลในด้านต่างๆ (One Stop Clearing House) ให้กับนักลงทุนและผู้ที่สนใจทั่วไปที่จะเข้าสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น การให้คำปรึกษาทางเทคนิค การให้คำปรึกษาในด้านแหล่งเงินทุน และการให้บริการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งระบบผลิตไฟฟ้า โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เป็นต้น
(4) การศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าระบบความร้อนร่วมจากเชื้อเพลิง
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนมูลนิธิสถาบันประสิทธิภาพพลังงาน (ประเทศไทย) ในวงเงินเกือบ 5 ล้านบาท เพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าไฟฟ้าในระบบ Combined Heat and Power (CHP) ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล และศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง เช่น เจ้าของโรงงาน ขาดประสบการณ์ ในการคัดเลือกเทคโนโลยี ที่เหมาะสม ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ การขาดข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งชีวมวลที่สามารถนำมาใช้ เป็นเชื้อเพลิงทดแทน หรือนำมาเสริมกับเชื้อเพลิงชีวมวลเดิมของโรงงาน และปัจจัยด้านราคาขนส่งชีวมวล จากแหล่งชีวมวลมายังโรงงานของผู้ประกอบการ โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี จากรัฐบาลฟินแลนด์ ผ่านบริษัท Fortum Engineering Ltd.
(5) การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมในชนบท
สพช. ได้จ้าง Black & Veatch (Thailand) Co., Ltd. ให้ศึกษาการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมในชนบท (Thailand Biomass-Based Power Generation and Cogeneration within Small Rural Industries) ศึกษาและรวบรวมข้อมูล ศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อกำหนดเป้าหมาย และปรับปรุงแผนงานอนุรักษ์พลังงานให้ชัดเจน และเหมาะสมยิ่งขึ้น จากนั้นจึงกำหนดพื้นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเกษตร ที่มีวัสดุเหลือใช้ในทางการเกษตรเพียงพอ ที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีผลตอบแทนการลงทุนที่สูงเพียงพอ แล้วนำมาทำการศึกษา เพื่อจัดทำแผนการลงทุน ร่วมกับเอกชนผู้เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมในชนบท เพื่อลงทุนในการผลิตไฟฟ้าต่อไป
การศึกษานี้ครอบคลุมถึงการจัดทำแผนการลงทุน (Feasibility Study) เพื่อเจ้าของโรงงานทั้ง 10 ราย ที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำผลการศึกษาไปยื่นขอรับความช่วยเหลือ ทางด้านการเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ได้ โดย สพช. ได้กำหนดเงื่อนไข ในการเข้าร่วมโครงการของโรงงาน แต่ละรายไว้ด้วยว่า “ในกรณีที่ผลการศึกษาสรุปได้ว่าผลตอบแทนการลงทุน (Financial Internal Rate of Return) มากกว่า 23 % ผู้เข้าร่วมโครงการ (Owner/Developer) ต้องดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้าภายใน 5 ปี มิฉะนั้น เจ้าของโรงงานหรือผู้ลงทุน จะต้องจ่ายชดเชยค่าลงทุน คิดเป็นจำนวนเงินอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ของค่าใช้จ่ายในการศึกษา”
รายชื่อโรงงานที่ได้รับการศึกษาเพื่อจัดทำแผนการลงทุน (Feasibility Study) รวม 10 ราย
- ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีข้าวสมหมายร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด
- โรงสีข้าวสนั่นเมือง จ.กำแพงเพชร
- ห้างหุ้นส่วนจำกัดฐิติพรธัญญา จ.นครสวรรค์
- บริษัทแปลนครีเอชั่นส์ จำกัด จ.ตรัง
- บริษัทชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) จ.ชุมพร
- บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลกาญจนบุรี จำกัด จ.กาญจนบุรี
- บริษัทวู้ดเวอร์คครีเอชั่น จำกัด จ.กระบี่
- บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด จ.กาฬสินธุ์
- บริษัทโรงสีเลียงฮงไชย จำกัด จ.ขอนแก่น
- บริษัททักษิณอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (1993) จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี
ผลการศึกษาสรุปได้ว่ามีโรงงานเพียง 3 ราย ที่มีความเหมาะสมในการนำเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีอยู่เอง มาใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีผลตอบแทนการลงทุน (FIRR) มากกว่า 23 % ซึ่ง สพช. จะต้องดำเนินการให้ทั้ง 3 โรงงาน จัดตั้งโรงไฟฟ้าภายใน 5 ปี ตามบันทึกข้อตกลงต่อไป ได้แก่ (1) ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีข้าวสมหมายร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด (2) บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด จ.กาฬสินธุ์ และ (3) บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) จ.ชุมพร
โรงงานทั้ง 10 ราย ที่ Black & Veatch ได้ทำการศึกษา FS ให้นั้น มีโรงงานจำนวน 4 ราย ที่ได้ยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เป็นค่าพลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นโครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่
(1) บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลกาญจนบุรี จำกัด จ.กาญจนบุรี (อยู่ในกลุ่มที่ 2)
(2) บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด จ.กาฬสินธุ์ (อยู่ในกลุ่มที่ 2)
(3) บริษัทแปลนครีเอชั่นส์ จำกัด จ.ตรัง และ (4) บริษัท วู้ดเวอร์คครีเอชั่นจำกัด จ.กระบี่ ได้ร่วมกับ บริษัท กัลฟ์อิเล็คทริค จำกัด (อยู่ในกลุ่มที่ 1) |